บันทึกการเรียนรู้ครั้งที่1
วันจันทร์ที่8 สิงหาคม 2559
ความรู้ที่ได้รับ
ผู้ปกครองและ/หรือครอบครัว คือ ครูคนแรกๆ ของเด็กและเด็กๆก็ได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างที่บ้านโดยไม่ต้องได้รับอิทธิพลหรือได้รับการสอนอย่างเป็นทางการจากสถานศึกษาแต่อย่างใด ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่เมื่อเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษาแล้วการเรียนรู้จะต้องเชื่อมต่อและเชื่อมโยงระหว่างสถานศึกษาและครอบครัว เพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กนั้นต่อเนื่องและทำให้การเรียนรู้มีความหมายต่อเด็ก เพราะสามารถเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริงที่บ้านได้ด้วย
มีวิจัยมากมายที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและผลดีต่อนักเรียนในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและครอบครัวในการจัดการศึกษาด้วยการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กมีผลต่อพัฒนาการและความสำเร็จด้านการศึกษาของนักเรียนอย่างเด่นชัด อีกทั้งยังช่วยผลักดันให้สถานศึกษาดำเนินงานจัดการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีขึ้นอีกด้วย ซึ่งการมีส่วนร่วมนั้น ผู้ปกครองสามารถมีส่วนร่วมได้ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน
North Central Regional Education Labovatory ได้นำเสนอลักษณะการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในสถานศึกษาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนตามรูปแบบของ Epstein และ Janson 6 ลักษณะ ซึ่งโรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ได้นำมาเป็นแนวทางในการส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองดังนี้คือ
1. Parenting หรือ การดูแลเลี้ยงดูเด็กของครอบครัว
หมายถึง ภาระหน้าที่พื้นฐานของผู้ปกครองที่จะต้องจัดให้เด็กซึ่งควรรวมถึง การจัดหาที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพ อนามัย อาหารที่มีคุณภาพ และความปลอดภัยให้แก่เด็ก นอกจากนั้น ผู้ปกครองควรจะต้องจัดสภาพแวดล้อมที่บ้านที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็กอย่างเหมาะสมกับวัยและระดับชั้นด้วยสิ่งที่โรงเรียนพยายามดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมด้านนี้มี เช่น
ให้ความเข้าใจแก่ผู้ปกครองเกี่ยวกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ให้คำปรึกษาหรือข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงดูหรือการปรับพฤติกรรมเด็ก จัดอบรมเชิงปฏิบัติการหรือสิ่งพิมพ์ให้แก่ผู้ปกครองเกี่ยวกับการเลี้ยงดูส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กที่เหมาะสมกับวัยและชั้นเรียน แนะนำหนังสือ website และสื่อต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมเด็กในทุกด้านให้แก่ผู้ปกครอง แนะนำการจัดสิ่งแวดล้อมที่บ้านให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ผู้ปกครองสามารถมีส่วนร่วมลักษณะนี้ได้อย่างเป็นธรรมชาติที่บ้าน การเรียนรู้ในชีวิตประจำวันของเด็กและครอบครัวทำให้การเรียนรู้นั้นมีความหมายมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อการเรียนรู้ที่สถานศึกษาและบ้านสอดคล้อง สนับสนุนซึ่งกันและกัน อีกทั้งผู้ปกครองยังสามารถจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กได้ โดยอาจจะเริ่มจากการหาสถานที่ประจำซึ่งเงียบสงบให้เด็กทำการบ้าน จัดบอร์ดหรือสถานที่ในการจัดแสดงผลงานต่างๆ ของเด็ก จัดสื่อ เกม หนังสือที่เหมาะกับเด็กในวัยนี้ ให้โอกาสเด็กได้ฝึกช่วยเหลือตนเอง ฝึกทักษะ และมีส่วนร่วมช่วยรับผิดชอบงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ตามวัย
ผู้ปกครองควรให้กำลังใจเด็กสม่ำเสมอ และเป็นตัวอย่างที่ดี เชิญชวน ชมเชย ส่งเสริม สนับสนุนเด็กตามวัย
2. Communication หรือ การสื่อสาร
หน้าที่รับผิดชอบพื้นฐานของสถานศึกษานั้นควรรวมถึงวิธีการสื่อสารอย่างหลากหลายจากสถานศึกษาไปยังบ้าน (เช่น ข่าวสาร จดหมายแจ้ง email สมุดสื่อสาร สมุดรายงานการเรียน การประชุม การโทรศัพท์) รวมถึงการให้ข้อมูลต่างๆ ด้วย (เช่น หลักสูตร การจัดอบรมและกิจกรรมต่างๆ การเรียนการสอนในแต่ละหน่วยการเรียนรู้ ข่าวสารประจำสัปดาห์)
ผู้ปกครองก็เช่นกัน ควรสื่อสารจากบ้านสู่สถานศึกษา ทำให้เกิดการสื่อสารสองทาง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ซึ่งการติดต่อสื่อสารนี้ไม่ควรเป็นการสื่อสารเมื่อมีเหตุการณ์ที่เป็นปัญหาเท่านั้น แต่ควรได้สื่อสารให้ครูได้รับทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้นที่บ้าน พัฒนาการของเด็ก ความสนใจของเด็ก ความรู้สึกของเด็กและผู้ปกครองเกี่ยวกับครู โรงเรียน กิจกรรม และการเรียนรู้ควบคู่ไปด้วย รวมถึงข้อเสนอแนะต่างๆ เช่น แหล่งเรียนรู้ วิทยากร ฯลฯ
3. Volunteering อาสาสมัคร
หมายถึงการที่ผู้ปกครองอาสาสมัครสละเวลาและนำความเชี่ยวชาญหรือความสามารถต่างๆ เข้ามาช่วยกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็ก พัฒนาครู บุคลากรพัฒนาสถานศึกษาและพัฒนาหรือเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองด้วยกันเอง ช่องทางที่โรงเรียนได้จัดให้ผู้ปกครองอาสาสมัครเข้ามาร่วมได้มีหลายรูปแบบหลายกิจกรรม เช่น
จัดให้มีผู้ปกครองเครือข่ายเพื่อการติดต่อสื่อสาร เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกันเอง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และร่วมกันจัดหรือทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อพัฒนาเด็ก โรงเรียนครูบุคลากร และผู้ปกครองด้วยกันเอง โดยผู้ปกครองสามารถอาสาเข้ามาเป็นกรรมการของผู้ปกครองเครือข่ายได้ จัดโครงการ “ผู้ปกครองมีส่วนร่วม” โดยเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้เข้ามามีส่วนร่วมจัดกิจกรรมการ เรียนรู้ให้แก่เด็กที่โรงเรียน เช่น การจัดกิจกรรมเสริมหน่วยการเรียนรู้ของเด็ก การเข้ามาเล่านิทานให้เด็กฟัง การเข้ามาเป็นผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้และทักษะต่างๆ แก่เด็ก เป็นวิทยากร ฯลฯ เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดนิทรรศการหรือดำเนินการตามโครงการต่างๆ เพื่อการเรียนรู้ของเด็ก ครู หรือ ผู้ปกครองด้วยกัน เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้ร่วมตรวจตรา หรือร่วมกิจกรรมอื่นๆ ที่จะช่วยดูแลความปลอดภัย และการดำเนินงานต่างๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการดูแลสุขภาพบุคลากรและนักเรียน เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้ร่วมไปทัศนศึกษากับนักเรียน เพื่อดูแลเด็ก พูดคุยกับเด็ก ตอบคำถาม และถามคำถามเด็ก เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองสามารถส่งสื่อเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนของเด็กในห้องเรียน และนอกห้องเรียน รวมทั้งอาสาสมัครติดต่อหรือส่งวิทยากร กิจกรรม การแสดง อาหาร และอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และกิจกรรมอื่นๆ ในที่นี้ “อาสาสมัคร” หมายถึงใครก็ได้ที่สนับสนุนเป้าหมายของสถานศึกษา การเรียนรู้หรือพัฒนาการของเด็กในทิศทางใด สถานที่ใด หรือเวลาใดก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเฉพาะช่วงเวลาเปิดทำการของสถานศึกษา หรือที่อาคารสถานศึกษาเท่านั้น ผู้ปกครองที่มีส่วนร่วมด้านอาสาสมัครจะทำให้เด็กรู้สึกและเห็นได้ว่าผู้ปกครองให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก อันเป็นการช่วยให้เด็กกระตือรือร้น และอยากเรียนรู้ และเห็นความสำคัญในการเรียนรู้มากขึ้น ดังนั้นถ้าผู้ปกครองจะสามารถสละเวลาปีละอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมงในการมีส่วนร่วมแบบอาสาสมัครก็จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อเด็กๆ
4. Learning at Home หรือ การเรียนรู้ที่บ้าน
หมายถึงผู้ปกครองช่วยเด็กๆ ในการทำการบ้าน และตั้งเป้าหมายทางการศึกษาให้แก่เด็ก รวมถึงการเล่นเกม ทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก เพื่อเชื่อมโยงการเรียนรู้ของเด็กที่โรงเรียนและที่บ้าน ทำให้เด็กเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ ได้รับการเรียนรู้ในแง่มุมรายละเอียดที่ต่างกัน เห็นว่าการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดเฉพาะที่โรงเรียน เกิดความต่อเนื่องในการฝึกทักษะและการเรียนรู้ ทั้งนี้สำหรับเด็กอนุบาลนั้น การเรียนรู้ที่บ้านต้องเป็นไปอย่างผ่อนคลาย สนุก มีความหมายต่อเด็ก
ทั้งนี้ “การบ้าน” ไม่ได้หมายถึงงานที่ต้องทำคนเดียว แต่รวมถึงกิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกันกับสมาชิกที่บ้าน หรือชุมชน ทำให้เกิดการเชื่อมโยงงานกับการเรียนรู้ที่สถานศึกษาและชีวิตจริงของนักเรียน
ส่วน “การช่วยเหลือ” ที่บ้าน หมายถึง การส่งเสริมสนับสนุนโดยให้กำลังใจ ตอบสนอง ชมเชย แนะนำ ดูแล และพูดคุย อภิปราย ไม่ใช่ “สอน” วิชาต่างๆ
5. Decision – Making หรือ การตัดสินใจ
หมายถึง ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในองค์กรผู้ปกครอง เช่น คณะกรรมการบริหารสถานศึกษา หรือ สมาคมผู้ปกครอง และการตัดสินใจในนโยบาย ภาวะผู้นำ และการประชาสัมพันธ์ ดังนั้นสถานศึกษาจะต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ของสถานศึกษา พัฒนาภาวะผู้นำให้แก่ผู้ปกครองและผู้แทนผู้ปกครอง
6. Collaborating with Community หรือ การให้ความร่วมมือกับชุมชน
หมายถึงการที่ผู้ปกครองส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนกับทรัพยากร และการบริการของชุมชน สถานศึกษาหาและผสมผสานทรัพยากรและการบริการจากชุมชนในการเสริมสร้างโปรแกรมของสถานศึกษา การดำเนินการของผู้ปกครอง และการพัฒนานักเรียน
ผู้ปกครองสามารถใช้ทรัพยากรและบริการของชุมชน ส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้เด็กได้เสมอเมื่อมีโอกาส เช่น การพาเด็กไปดูชมนิทรรศการ หรือ พิพิธภัณฑ์ หรือ ใช้บริการห้องสมุด สวนสาธารณะ หรือ แหล่งเรียนรู้ต่างๆ หรือ เข้าร่วมกิจกรรมโครงการต่างๆ ของชุมชน เช่น โครงการเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย หรือการประหยัดทรัพยากร หรือ การแสดงดนตรี ระบำ หุ่นกระบอก ฯลฯ รวมถึงการพาเด็กไปทำบุญ สวดมนต์ หรือร่วมกิจกรรมศาสนาและประเพณีไทยต่างๆ อันจะทำให้เด็กได้เรียนรู้ในบริบทของชุมชน รู้จักสถานที่ที่สามารถแสวงหาความรู้ คำตอบของข้อสงสัย หรือพัฒนาทักษะด้านต่างๆ เพื่อเด็กจะได้รับประสบการณ์ตรง และเข้าใจได้ว่าการเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่บ้าน โรงเรียน หรือตำราเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังให้รักชุมชน และช่วยเหลือสังคมที่ดีอีกด้วย
สรุป
หากผู้ปกครองสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็กได้ทั้ง 6 ด้าน หรือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว ผู้ปกครองก็จะเป็นหุ้นส่วนของโรงเรียนในการเสริมสร้างศักยภาพของเด็กสู่คุณภาพสูงสุดได้แน่นอน มีวิจัยมากมายที่บ่งบอกถึงประโยชน์ (benefits) ของการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองอย่างจริงจัง ว่าจะช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จทางการศึกษาและชีวิตในหลายด้าน และรัฐบาลหลายประเทศ รวมถึง สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ได้กำหนดให้ทุกสถานศึกษาทุกระดับ ส่งเสริม เสริมสร้าง เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็กอย่างจริงจังจนเรียกได้ว่า ผู้ปกครอง “เป็นหุ้นส่วน” ของสถานศึกษา ในการจัดการศึกษาให้แก่เด็กนักเรียน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น